สำนักงานสัตวแพทยสภา  
   

จรรยาบรรณ

จรรยาบรรณ

 

                 พระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวแพทย์  พ.ศ.๒๕๔๕  มาตรา๓๖ ระบุว่าผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ต้องรักษาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพการสัตวแพทย์  ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับสัตวแพทยสภา ในข้อเท็จจริง ได้มีการกำหนด  “จรรยาบรรณสัตวแพทย์”  มาก่อนที่มีพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวแพทย์  พ.ศ.๒๕๔๕ ประกาศใช้ เรียกว่าประมวลจรรยาบรรณสัตวแพทย์ของสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ.๒๕๑๖ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติของผู้ประกอบอาชีพสัตวแพทย์ ประมวลจรรยาบรรณสัตวแพทย์ฉบับนี้ ได้รับการรวบรวมไว้กับกฏหมายที่ควรรู้ โดยสมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๔  แจกจ่าย ให้สมาชิกเพื่อให้สัตวแพทย์ตระหนักและเป็นแนวทางปฏิบัติ  ประมวลจรรยาบรรณสัตวแพทย์ฯ กำหนดไว้ทั้งหมด ๔๗ ข้อ แยกเป็น ๕ หมวด คือ

                 ๑. ฐานันดรและศักดิ์ศรีของอาชีพสัตวแพทย์ กล่าวถึง ความรับผิดชอบ ความประพฤติ หน้าที่ การโฆษณา คำนำหน้าชื่อ การให้บริการที่ตั้งสถานพยาบาลสัตว์รวม ๒๐ ข้อ

                 ๒. ความสัมพันธ์ในระหว่างผู้ประกอบอาชีพสัตวแพทย์ กล่าวถึง จริยธรรมของผู้ประกอบอาชีพสัตวแพทย์ ความรับผิดชอบของสถาบันการศึกษาวิชาชีพสัตวแพทย์  มารยาทในการเริ่มงานวิชาชีพ การร่วมทำธุรกิจ การให้คำปรึกษาและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง รวม ๑๔ ข้อ

                 ๓. การใช้ปริญญาและคำอธิบาย กล่าวถึงการใช้คำนำชื่อ ต้องไม่พึงปฏิบัติในการให้ผู้อื่นประกอบวิชาชีพ รวม ๔ ข้อ
                ๔. ความสัมพันธ์ระหว่างนายสัตวแพทย์กับบุคคลธรรมดา กล่าวถึง การไม่พึงปฏิบัติในการประกอบวิชาชีพภายใต้การนำของบุคคลธรรมดา รวม ๓ข้อ

                ๕. ผู้ประกอบอาชีพสัตวแพทย์กับกฎหมาย กล่าวถึง ข้อกำหนดทางกฎหมาย รวม ๖ข้อ

                 ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์หรือผู้ประกอบอาชีพสัตวแพทย์ ได้ยึดถือประมวลจรรยาบรรณสัตวแพทย์ฯ ดังกล่าวเป็นแนวทางปฏิบัติตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้เป็นการมีจิตสำนึกของบุคคล ที่จะคำนึงถึงประโยชน์แห่งสุขภาพสัตว์ เจ้าของสัตว์ และสวัสดิภาพแห่งเพื่อนมนุษย์ อันจะนำมาซึ่งเกียรติยศและศักดิ์ศรีของวิชาชีพ การควบคุมการบำบัดโรคสัตว์เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมการบำบัดโรคสัตว์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมการบำบัดโรคสัตว์ พ.ศ.๒๕๐๕ และเป็นไปตามกฎหมายดังกล่าว

                เมื่อพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ.๒๕๔๕ ประกาศใช้  จึงให้ยกเลิกพระราชบัญญัติควบคุมการบำบัดโรคสัตว์ พ.ศ.๒๕๐๕ และกำหนดให้มีสัตวแพทยสภา ทำหน้าที่ควบคุมการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ควบคุมความประพฤติและการดำเนินงานของผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ให้ถูกต้องตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพการสัตวแพทย์  สัตวแพทยสภาจึงมีหน้าที่กำหนดข้อบังคับสัตวแพทย-สภาที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เป็นข้อบังคับสัตวแพทยสภาว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ.๒๕๔๖  ในข้อบังคับดังกล่าวแยกไว้เป็น  ๕ หมวด ได้แก่

                  หมวด ๑    ความประพฤติทั่วไปของผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์

                  หมวด ๒    การประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์

                  หมวด ๓    การปฏิบัติต่อผู้ร่วมวิชาชีพ

                  หมวด ๔    การโฆษณาการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์

                  หมวด ๕    การทดลองในสัตว์ และข้อบังคับสัตวแพทยสภาว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพการสัตวแพทย์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๘ กล่าวถึง

                  หมวด ๖    การปฏิบัติงานเกี่ยวกับสถานพยาบาลสัตว์ส่งท้าย

                  ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ เป็นผู้ที่เจ้าของสัตว์ยกย่องนับถือและไว้วางใจให้มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับชีวิตสัตว์ของเขา ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ จึงมีความจำเป็นจะต้องช่วยกันผดุงรักษาเกียรติความดีงาม และความเหมาะสมไว้ให้ได้สมกับที่สังคมยกย่อง อย่างไรก็ตามผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ก็คือปุถุชนที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสังคมในระบบเดียวกันกับบุคคลทั่วไป หากไม่มีระบบ  กรอบเกณฑ์  จรรยาบรรณ  คุณธรรม  และจิตสำนึก เป็นแนวทางปฏิบัติก็อาจมีโอกาสประพฤติไม่เหมาะสมได้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐  จำกัดสิทธิและเสรีภาพของการประกอบวิชาชีพ เป็นการเฉพาะและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบวิชาชีพควบคุมดูแลกันเองในการรักษามาตรฐานเชิงวิชาการของวิชาชีพและการรักษาจรรยาบรรณ โดยมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ ให้มีองค์กรควบคุมในรูปของสภาวิชาชีพ ตามที่อัครพงษ์ (๒๕๔๖) อธิบายไว้ในตรรกแห่งวิชาชีพ  ซึ่งนอกจากผู้ประกอบวิชาชีพจะดูแลกันเองแล้ว ยังถูกตรวจสอบได้จากประชาชนผู้มารับบริการผู้ประกอบวิชาชีพ

                นอกจากนี้ เจษฎา (๒๕๔๘) กล่าวถึงผลกระทบจากการผิดจรรยาบรรณว่า หากมีสัตวแพทย์คนใดคนหนึ่งประพฤติผิดจรรยาบรรณแล้ว อาจทำให้คนในสังคมเกิดความระแวง ขาดความเชื่อมั่นไม่ไว้ใจในสัตวแพทย์อาจเกิดความรังเกียจและดูถูกสัตวแพทย์ทุกคน เปรียบเหมือนคำโบราณที่ว่า “ปลาเน่าตัวเดียวในข้อง ทำให้เหม็นไปทั้งข้อง”  สัตวแพทยสภาจึงมีหน้าที่หยิบปลาเน่าออกจากข้อง เพื่อมิให้ปลาดีที่อยู่ในข้องต้องเน่าเหม็นไปด้วย สัตวแพทยสภายังมีหน้าที่จะต้องปกป้องผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ที่ประพฤติตนอยู่ในกรอบจรรยาบรรณวิชาชีพ แต่อาจถูกกลั่นแกล้งจากผู้ไม่หวังดีบางคน เพื่อที่ให้คนดีสามารถดำรงชีพในสังคมนี้ต่อไปหากผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ทุกคนร่วมมือร่วมใจกันทำหน้าที่ควบคุมดูแลจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างเข็มแข็งแล้ว หลักการปกครองดูแลกันเองย่อมคงอยู่ตลอดไป ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์และประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด  ทั้งนี้ จรรยาบรรณวิชาชีพจึงขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของผู้ประกอบการในวิชาชีพนั้นๆ

กลับด้านบน